คู่มือนักเรียน

ในโรงเรียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน   โดยเฉพาะนักเรียนหากได้ศึกษาคู่มือนักเรียนแล้ว   จะทำให้เกิดความมั่นใจ  สบายใจในการใช้ชีวิตในโรงเรียนอย่างถูกต้องเหมาะสม  มีลักษณะการเป็นผู้นำที่ดี   มีระเบียบวินัย  มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่   ชุมชนและสังคม

                                 ดังนั้น  ฝ่ายกิจการนักเรียน  กลุ่มบริหารทั่วไป  โรงเรียนห้วยราชพิทยาคม จึงต้องอาศัยกฎเกณฑ์ กติกา และระเบียบโรงเรียนในคู่มือเล่มนี้  เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของนักเรียน  ผู้ปกครอง  และครู  ให้สอดรับกันและกัน เป็นการป้องกันข้อผิดพลาด    ที่จะเกิดขึ้นกับตัวนักเรียน  ฝ่ายกิจการนักเรียนได้จัดทำคู่มือนักเรียนเล่มนี้ขึ้น    เพื่อประโยชน์สุขของทุกฝ่าย ขอให้ลูกน้ำเงิน – เหลืองทุกคนจงศึกษา  ข้อมูลในคู่มือเล่มนี้ให้ละเอียดเพื่อความสบายใจในการใช้ชีวิตอยู่ในรั้วโรงเรียนห้วยราชพิทยาคมของเรา  

             

                                                                                     ฝ่ายกิจการนักเรียน กลุ่มบริหารทั่วไป

                                                                                                    1   มิถุนายน  2564

 

 

ระเบียบโรงเรียนห้วยราชพิทยาคม
ว่าด้วยการสร้างเสริมด้านระเบียบวินัยและความประพฤตินักเรียน
——————————————-

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา  6  และมาตรา 64  แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวง  ดังนั้นโรงเรียนห้วยราชพิทยาคม  พิจารณาเห็นควรปรับปรุงแก้ไขระเบียบโรงเรียนห้วยราชพิทยาคม ว่าด้วยการสร้างเสริมด้านระเบียบวินัย    และความประพฤติ นักเรียน  เป็นไปโดยใกล้ชิด   ทันต่อเหตุการณ์และสร้างความตระหนักให้กับนักเรียน  เพื่อยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

               ฉะนั้น  อาศัยอำนาจตามกฎกระทรวง ข้อ 2   ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษา  กำหนดระเบียบว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ลงวันที่ 27 ธันวาคม  พ.ศ.2548 โรงเรียนห้วยราชพิทยาคม  จึงกำหนดหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

               ข้อ 1.  ระเบียบนี้เรียกว่า “ ระเบียบโรงเรียนห้วยราชพิทยาคม  ว่าด้วยการสร้างเสริมด้านระเบียบวินัยและความประพฤตินักเรียน พ. ศ. 2564”

               ข้อ 2.  ระเบียบนี้ขอใช้บังคับตั้งแต่วันที่  1  มิถุนายน  พ.ศ. 2564

               ข้อ 3.  ให้ยกเลิกระเบียบโรงเรียนห้วยราชพิทยาคม  ว่าด้วยความประพฤติของนักเรียน  นักศึกษา  ระเบียบ  ข้อบังคับ  หรือคำสั่งอื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้  ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

        ระเบียบเครื่องแต่งกายนักเรียน

    นักเรียนโรงเรียนห้วยราชพิทยาคมทุกคน  ต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนตามที่โรงเรียนกำหนด
    1.เครื่องแต่งกายและทรงผมนักเรียนชาย

          1.1  ทรงผม   

                 นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  ตัดผมทรงนักเรียน รอบศีรษะเกรียน ด้านหน้าวัดในแนวตั้ง ไม่เกิน 3 ซม. ห้ามกันชายผม โกรกหรือเปลี่ยนแปลงสีผม ห้ามใส่น้ำมัน เจล หรือตกแต่งใดๆ

                 นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย   ตัดผมทรงนักเรียน รอบศีรษะเกรียน ด้านหน้าวัดในแนวตั้งไม่เกิน 3 ซม. หรือตัดผมทรงรองทรงสูง ด้านหน้าวัดผมในแนวตั้งไม่เกิน 5 ซม. ห้ามโกรกหรือเปลี่ยนแปลงสีผม ห้ามใส่น้ำมัน เจล หรือตกแต่งใดๆ

          หมายเหตุ : ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาโดยความเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

          1.2  เสื้อ

                นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย   ใช้เสื้อแบบเสื้อเชิ้ตคอตั้ง  ผ้าขาวเกลี้ยงไม่บางเกินไป (ห้ามใช้ผ้าแพรหรือผ้าที่ไม่สามารถรักษารูปทรงไว้ได้)  ผ่าอกตลอด  มีสาบที่อกเสื้อ  กว้าง  4  ซม.    ใช้กระดุมสีขาวใสกลมแบนเส้นผ่าศูนย์กลาง  1 ซม. แขนเสื้อสั้นเหนือศอก  มีกระเป๋าติดอยู่ที่อกด้านซ้ายบริเวณราวนม  1 ใบ  มีขนาดกว้าง  8–12  ซม. ลึก  10–15  ซม. ไม่มีจีบ ไม่มีเกล็ด ไม่รัดรูป ขนาดของเสื้อพอเหมาะกับรูปร่างของนักเรียน  

             อกเสื้อด้านขวาเหนือราวนมเล็กน้อย  ปักอักษรย่อ  หร.พ.  ใต้อักษรย่อ  ปักเลขประจำตัวด้วย  ตัวเลขไทย อกเสื้อด้านซ้ายเหนือกระเป๋า 2 ซม. ปักชื่อ-สกุล  ด้วยตัวอักษรบรรจง สูงประมาณ  1 ซม. ด้วยไหมสีน้ำเงิน 

                                     บนชื่ออักษรย่อโรงเรียนให้ปักเครื่องหมายแสดงระดับชั้นดังนี้

                1.2.1  ระดับ  ม. 1  ปักจุดกลม  1 รูป ด้วยไหมสีน้ำเงิน เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ซม.

               1.2.2  ระดับ  ม. 2  ปักจุดกลม  2 รูป ด้วยไหมสีน้ำเงิน เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ซม.

               1.2.3  ระดับ  ม. 3  ปักจุดกลม  3 รูป ด้วยไหมสีน้ำเงิน เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ซม.

               1.2.4  ระดับ  ม. 4  ปักสามเหลี่ยม  1 รูป ด้วยไหมสีน้ำเงิน ด้านละ 0.5 ซม.

               1.2.5  ระดับ  ม. 5  ปักสามเหลี่ยม  2 รูป ด้วยไหมสีน้ำเงิน ด้านละ 0.5 ซม.       

               1.2.6  ระดับ  ม. 6  ปักสามเหลี่ยม  3 รูป ด้วยไหมสีน้ำเงิน ด้านละ 0.5 ซม.

                หมายเหตุ :  นักเรียนชาย – หญิง

        1.3  กางเกง

                 นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย   ใช้ผ้าโทเรสีกากี  เป็นกางเกงแบบกางเกงไทย  ทรงสบาย  ขาสั้นเหนือเข่า   พ้นกลางกระดูกลูกสะบ้าประมาณ  5 ซม. (เมื่อยืนตรง)  ส่วนกว้างของขากางเกง  ห่างจากขาประมาณ  8-10  ซม.  ปลายขากางเกงพับเข้าด้านใน  ส่วนหน้าผ่าตรงมีซิบรูดซ่อนไว้ด้านใน   มีจีบด้านหน้าข้างละ 2 จีบ  มีกระเป๋าตามแนวตะเข็บด้านข้างๆละ 1 ใบ  ไม่มีกระเป๋าด้านหลังกางเกง  ที่เอวกางเกงมีหูสำหรับรอยเข็มขัด  ขนาดความกว้าง  3 ซม.  จำนวน  7 หู   เวลาสวมใส่ให้ทับชายเสื้อไว้ด้านใน

         1.4  เข็มขัด

                นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายใช้เข็มขัดหนังสีน้ำตาล ขนาดกว้าง 3 ซ.ม.

หัวเข็มขัดเป็นโลหะสีทองเหลือง   รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ชนิดหัวกลัด  มีเข็มร้อยรูเพียงเข็มเดียว

         1.5  ถุงเท้า   

              นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย   ใช้ถุงเท้าแบบธรรมดาเหนือข้อเท้า  สีน้ำตาล   ไม่มีลวดลาย  เวลาสวมใส่ให้ยืดตรงสุดปลายถุงเท้า   (ไม่ต้องพับ)

         1.6  รองเท้า  

                นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย   ใช้รองเท้าผ้าใบ  สีน้ำตาล  ชนิดหุ้มส้น

มีเชือกผูก  หัวมน  ไม่มีลวดลาย  (ห้ามสวมรองเท้าหุ้มข้อ และรองเท้าแตะ เว้นแต่มีสาเหตุอันควร)

   2. เครื่องแต่งกายและทรงผมนักเรียนหญิง

          2.1  ทรงผม

                นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  ผมสั้น ให้ตัดตรงโดยรอบศีรษะ ความยาวไม่เกินริมฝีปากล่าง ให้ตัดปลายเส้นผมตรงเสมอกันรอบศีรษะ ห้ามโกรกสีผม ห้ามดัด ห้ามซอย ห้ามติดกิ๊บสี และเครื่องประดับผมทุกชนิด

                 นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  

                   ผมสั้น  ให้ตัดตรงโดยรอบศีรษะ ความยาวไม่เกินปลายคาง ให้ตัดปลายเส้นผมตรงเสมอกันรอบศีรษะ ห้ามโกรกสีผม ห้ามดัด ห้ามซอย ห้ามติดกิ๊บสี และเครื่องประดับผมทุกชนิด

                   ผมยาว ความยาวของผมต้องยาวไม่เกินกึ่งกลางหลัง  รวบมัดผมด้วยยางรัด ผูกโบสีน้ำเงินทับให้เรียบร้อย ให้ใช้โบของโรงเรียน (มีจำหน่ายที่งานสภานักเรียน) การรวบผมระหว่างขวัญและท้ายทอยติดกิ๊บสีดำให้เรียบร้อย ห้ามโกรกสีผม ห้ามดัด ห้ามซอย ห้ามติดกิ๊บสี และเครื่องประดับผมทุกชนิด

                หมายเหตุ : ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาโดยความเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

          2.2  เสื้อ 

                นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น   ใช้ผ้าขาวเกลี้ยง  ไม่บาง ไม่มีลวดลาย  ห้ามใช้ผ้าแพรหรือผ้าที่บางไม่สามารถรักษารูปทรงไว้ได้  ตัวเสื้อเป็นแบบคอพับในตัว (ปกทหารเรือ) คอผ่าลึกพอสมควร ศีรษะสวมเข้าได้สะดวก  สาบตลบเข้าข้างใน  แขนเสื้อยาวเหนือศอก  ปลายแขนจีบเล็กน้อย มีขอบใช้ผ้าสองชั้นกว้างประมาณ  3 ซม.  ความยาวของตัวเสื้อวัดจากข้อมือลงมา (เมื่อยืนตรง)  ประมาณ  10-15 ซม. ขอบชายเสื้อด้านล่างพับขอบเข้าข้างใน  ขนาดตัวเสื้อโตพอเหมาะกับลำตัว ไม่รัดรูป ริมขอบเสื้อล่างด้านขวาติด กระเป๋าขนาดกว้าง 10-12 ซม. ลึก 7-10 ซม. อกเสื้อด้านขวาเหนือราวนมเล็กน้อย  ปักอักษรย่อ  หร.พ.  ใต้อักษรย่อปักเลขประจำตัวด้วยตัวเลขไทย   อกเสื้อด้านซ้ายเหนือราวนม ปักชื่อ – สกุล  ด้วยไหมสีน้ำเงิน  มีผ้าผูกคอสีกรมท่า  (หูกระต่าย)  ใช้สำหรับผูกคอเสื้อ

                นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย   ใช้ผ้าขาวเกลี้ยง  ไม่บาง ไม่มีลวดลาย  ห้ามใช้ผ้าแพรหรือผ้าที่บางไม่สามารถรักษารูปทรงไว้ได้  ตัวเสื้อเป็นแบบคอเชิ้ต  ผ่าอกตลอด  มีสาปที่อกเสื้อตลบเข้าด้านใน  กว้าง  3 ซม.  มีกระดุมกลมแบนสีขาวใส  แขนเสื้อยาวเหนือศอก  ปลายแขนจีบเล็กน้อย มีขอบใช้ผ้าสองชั้นกว้างประมาณ 3 ซม. ความยาวและ ขนาดตัวเสื้อพอเหมาะกับลำตัว   ขอบชายเสื้อไว้ในกระโปรง  ไม่รัดรูป  อกเสื้อด้านขวาเหนือราวนมเล็กน้อย  ปักอักษรย่อ  หร.พ.  ใต้อักษรย่อปักเลขประจำตัวด้วยตัวเลขไทย อกเสื้อด้านซ้ายเหนือราวนมเล็กน้อย ปักชื่อ – สกุล  ด้วยไหมสีน้ำเงิน  

          2.3  กระโปรง

                นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย   ใช้ผ้าโทเรสีกรมท่า  หรือน้ำเงิน  ไม่มีลวดลาย  ตัดแบบธรรมดา  ด้านหน้าและด้านหลัง  มีกลีบ  3  กลีบ   หันกลีบออกด้านนอก  เย็บทับกลีบจากขอบ กระโปรงลงมาประมาณ  10 – 12 ซม.  เว้นระยะความกว้างตรงกลางพองาม  กระโปรงยาวคลุมเข่า

          2.4  เสื้อชั้นใน

                นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย  เสื้อในสีขาวคอกลม  ถ้าใช้ยกทรง  บราเซีย ตัวสั้นหรือตัวยาว   ต้องสวมเสื้อชั้นในคอกระเช้าหรือเสื้อซับในสีขาวอีกชั้นหนึ่ง

          2.5  รองเท้า – ถุงเท้า

                 นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย  ใช้รองเท้าหนังสีดำ แบบหุ้มส้น หุ้มปลายเท้า   มีสายรัดหลังเท้า ไม่มีลวดลาย  ส้นสูงไม่เกิน  3  ซม.   ใช้ถุงเท้า   เป็นผ้าฝ้ายหรือไนล่อน  สีขาวล้วนหรือพื้นสีดำไม่มีลวดลาย  เมื่อสวมแล้วต้องเหนือข้อเท้า อย่างน้อย 1 นิ้ว

          2.6  เข็มขัด

                นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เข็มขัดหนังสีดำ  แบบชนิดหัวกลัด เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาดความกว้าง  3-5 ซม.  ใช้คาดทับขอบกระโปรง

          2.7  กระเป๋าใส่หนังสือ

                นักเรียนทุกคน  ใช้กระเป๋านักเรียน แบบเป้ตามที่โรงเรียนกำหนด  (ห้ามใช้กระเป๋าถือ  หรือกระเป๋าแฟร์ชั่น   ย่าม   เป็นต้น)

          2.8  ชุดเรียนพลศึกษา

                นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  ใช้กางเกงวอร์มขายาว ผ้ายืด ขาจั๊ม สีดำหรือสีกรมท่า ตามแบบของโรงเรียน (มีจำหน่ายที่โรงเรียน)  ใช้เสื้อทรงโปโลแขนสั้น สีน้ำเงิน ตามแบบโรงเรียนกำหนด (มีจำหน่ายที่โรงเรียน)  อกเสื้อด้านขวาเหนือราวนมเล็กน้อย  ปักชื่อ – สกุล ขนาดตัวอักษรตามแบบมาตรฐาน  สูง 0.5 ซม. และปักเครื่องหมายแสดงระดับชั้นเหนือ ชื่อ – สกุล ระหว่างกลางด้วยไหมสีขาว

               นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้กางเกงวอร์มขายาว ผ้ายืด ขาจั๊ม สีดำหรือสีกรมท่า ตามแบบของโรงเรียน (มีจำหน่ายที่โรงเรียน)  ใช้เสื้อทรงโปโลแขนสั้น สีเหลือง ตามแบบโรงเรียนกำหนด  (มีจำหน่ายที่โรงเรียน)  อกเสื้อด้าน ขวาเหนือราวนมเล็กน้อย  ปักชื่อ – สกุล ขนาดตัวอักษรตามแบบมาตรฐาน  สูง 0.5 ซม. และปักเครื่องหมายแสดงระดับชั้นเหนือ ชื่อ – สกุล ระหว่างกลางด้วยไหมสีน้ำเงิน

         2.9  ชุดเครื่องแบบกิจกรรม

                 –  เครื่องแบบลูกเสือ   ( ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ )  ตามแบบกระทรวงศึกษาธิการกำหนด

                 –  เครื่องแบบยุวกาชาด   ตามแบบกระทรวงศึกษาธิการกำหนด

                 –  เครื่องแบบผู้บำเพ็ญประโยชน์ ตามแบบกระทรวงศึกษาธิการกำหนด

                –  เครื่องแบบนักศึกษาวิชาทหาร ตามแบบหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนและหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 26 กำหนด

ข้อ 4.  การตัดคะแนนความประพฤตินักเรียน ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้   

     4.1  โทษเบา  บทลงโทษตัดคะแนนความประพฤติครั้งละ  5  คะแนน คือความผิดต่อไปนี้ 

               1)  ส่งเสียงดังรบกวนในห้องเรียนหรือห้องใกล้เคียง 
               2)  ทำความสกปรก ทิ้งขยะไม่เป็นที่  ไม่ทำความสะอาดห้องเรียนที่รับผิดชอบ                         
               3)  วิ่งเล่นในที่ที่โรงเรียนห้าม  เช่น  ในห้องเรียน  ห้องประชุม  โรงอาหาร  ฯลฯ                        
               4)  นำอาหาร  ขนม  น้ำดื่ม  ขึ้นมารับประทานบนอาคารเรียน  ในห้องเรียน   ห้องประชุม  และสวมรองเท้าขึ้นบนอาคารเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต
               5)  เครื่องแต่งกายผิดระเบียบตามข้อกำหนดของโรงเรียน  เช่น เสื้อ  กางเกง กระโปรง  ชุดพลศึกษา  ชุดกิจกรรม  ถุงเท้า  รองเท้า
               6)  แต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย  ทั้งในและนอกบริเวณโรงเรียน  (ชุดเครื่องแบบต่าง ๆ ตามระเบียบข้อกำหนดของโรงเรียน)
               7)  ไม่เก็บจาน – ชามหรือภาชนะที่นำมารับประทาน  ไว้ในที่ที่กำหนดให้                    
               8)  ไม่เข้าห้องเรียนรายชั่วโมงโดยไม่มีใบอนุญาต  หรือเหตุผลอันสมควร                        
               9)  ไม่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน                                                                                          
             10)  เข้า – ออก  บริเวณโรงเรียนโดยไม่ใช้ประตูทางเข้า-ออก                                 
             11)  ไม่มี  หรือไม่นำบัตรประจำตัว หรือบัตรห้องสมุดมาโรงเรียน
             12)  ไม่ไปรายงานตัวเพื่อรับการตรวจทรงผม  ตามวัน เวลา ที่กำหนด
             13)  ใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียนหรือบริเวณที่ไม่ได้รับอนุญาต

    4.2  โทษปานกลาง  บทลงโทษตัดคะแนนความประพฤติครั้งละ  10  คะแนน  และแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เป็นลายลักษณ์อักษร  คือความผิดต่อไปนี้ 

                1)  มาโรงเรียนสาย (หลังเวลา 07.55 น.)  3  วัน/ สัปดาห์ หรือบ่อยๆ ครั้ง  โดยไม่มีใบขออนุญาตหรือมีเหตุอันควร 
                2) ไม่จอดรถจักรยานหรือจักรยานยนต์ในบริเวณโรงเรียนและในที่กำหนดให้จอด
                3)  ขาดเรียนโดยไม่มีใบลา  หรือเหตุผลอันสมควร    
                4)  มีบุหรี่ไว้ครอบครองหรือสูบบุหรี่
                5)  ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง  หรือสร้างความเดือดร้อนที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
                6)  ทำลายทรัพย์สินของโรงเรียน  เช่น  ขูด  ขีด  เขียน  ทุบ  ตี   ฉีก  ตัด  ฯลฯ  ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย  (อาจถูกลงโทษเพิ่ม  ในกรณีที่ทรัพย์สินเสียหายมาก)
                7)  ทะเลาะวิวาทภายในบริเวณโรงเรียนกรณีเล็กน้อย (อาจถูกลงโทษเพิ่ม  ในกรณีที่มีบาดแผลหรือตกลงกันไม่ได้)              

    4.3  โทษหนัก บทลงโทษต้องพัฒนาสังคม ชุมชน  เป็นเวลา 8 ชั่วโมง  และเชิญผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียน เพื่อทำพันธสัญญา คือความผิดต่อไปนี้ 

                1)  มี หรือพกพาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  เข้ามาในบริเวณโรงเรียน  
                2)  ดื่ม หรืออยู่ในกลุ่มผู้ดื่ม  เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
                3)  เล่นการพนัน  หรือมีการเดิมพันในการเล่น  ทุกประเภท
                4)  ชักชวน หรือยุยงให้แตกความสามัคคีภายในกลุ่ม  คณะ  ชั้น  และภายในโรงเรียน                
                5)  นำหรือพาบุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณโรงเรียนโดยไม่มีเหตุผล  หรือเหตุอันควร                 
                6)  หนีเรียนไปเล่นเกม  เล่นสนุกเกอร์  และอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน        

    4.4  โทษหนักมาก  บทลงโทษพัฒนาสังคม  ชุมชน  เป็นเวลา 12 ชั่วโมง  เชิญผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียน  และทำทัณฑ์บน   คือความผิดต่อไปนี้   

               1)  พกพาอาวุธ หรือวัตถุระเบิด   เข้ามาในบริเวณโรงเรียน  
               2)  แสดงกิริยา อาการไม่ให้ความเคารพ  หรือใช้วาจาไม่สุภาพ  ก้าวร้าวกับครูและผู้อาวุโส                                                                                                 
               3)  พาหรือชักชวนบุคคลภายนอก  มาทำร้ายร่างกายหรือก่อเหตุวิวาทกับนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน
               4)  ลักขโมยทรัพย์สิน  หรือสิ่งของ  ของโรงเรียน  ครู  นักเรียน  และบุคคลในโรงเรียน
               5)  แสดงพฤติกรรมในทางชู้สาว   ซึ่งไม่เหมาะสมในโรงเรียนและในที่สาธารณะ
               6)  ซื้อ  จำหน่าย  แลกเปลี่ยน  พกพา  หรือเสพสารเสพติดให้โทษ  ทุกประเภท
               7)  แสดงตนเป็นนักเลงหัวไม้  เช่น  ข่มขู่  รีดไถ  กรรโชก  หรือบังคับขืนใจผู้อื่น
               8)  เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี  เช่น  เป็นผู้จัดหา  หรือเป็นผู้ดำเนินการเอง
               9)  ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่  หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความ เดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น     

ข้อ 5.  การลงโทษด้วยวิธีตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน   ให้กระทำดังนี้

               5.1  แนะนำ  และว่ากล่าวตักเตือน   
               5.2  เมื่อแนะนำ  และว่ากล่าวตักเตือนแล้ว   นักเรียนไม่แก้ไข-ปรับปรุงพฤติกรรม ที่กระทำผิด  ให้ตัดคะแนนความประพฤติ  (เว้นแต่กรณีโทษสถานหนัก – หนักมาก)
               5.3  เมื่อเชิญผู้ปกครองมาพบครั้งที่ 1 ให้นักเรียนแก้ไข-ปรับปรุงพฤติกรรม โดยวิธีการปฏิบัติ กิจกรรมพัฒนาสังคม-ชุมชน  (กระทำความผิดซ้ำให้ลงโทษเป็น 2 เท่า)

ข้อ 6.  การตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน (มีเกณฑ์ 100 คะแนน / เวลา 1 ภาคเรียน)

                6.1  นักเรียนที่ถูกตัดคะแนนความประพฤติ  ให้ปฏิบัติดังนี้                                    

                   1)  ถูกตัดคะแนน  5 – 20  คะแนน   ต้องเข้ารับการอบรมหรือพัฒนาโรงเรียน เป็นเวลา ไม่เกิน 4  ชั่วโมง     
                   2)  ถูกตัดคะแนน  21 – 40  คะแนน  เชิญผู้ปกครองมาพบรองผู้อำนวยการบริหารทั่วไปหรือฝ่ายส่งเสริมความประพฤติ  และพัฒนาสังคมเป็นเวลา  10  ชั่วโมง                         
                   3)  ถูกตัดคะแนน  41 – 60  คะแนน  เชิญผู้ปกครองมาพบรองผู้อำนวยการบริหารทั่วไปหรือฝ่ายส่งเสริมความประพฤติ  และพัฒนาสังคมเป็นเวลา  16  ชั่วโมง                       
                   4)  ถูกตัดคะแนน  61 –  99  คะแนน เชิญผู้ปกครองมาพบรองผู้อำนวยการบริหารทั่วไปหรือฝ่ายส่งเสริมความประพฤติ  และพัฒนาสังคมเป็นเวลา  24  ชั่วโมง
                   5)  นักเรียนที่ถูกตัดคะแนน  ความประพฤติตั้งแต่  100  คะแนน ขึ้นไป ให้คณะกรรมการฝ่ายกิจการนักเรียน  พิจารณาลงโทษ ตามกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียน นักศึกษา พ.ศ.2548
                   6)  ความผิดเล็กน้อย หากทำผิดบ่อยๆ ซ้ำซาก หรือความผิดครั้งแรก เกิดความสูญเสีย  (ต่อวัตถุ ความรู้สึก ชื่อเสียงของโรงเรียน) ให้คณะกรรมการฝ่ายกิจการนักเรียนพิจารณาลงโทษ  ตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษ  นักเรียน นักศึกษา  พ.ศ.2548
                   7)  รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารทั่วไป หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่ลงโทษตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียนตามระเบียบนี้                                                                                                                                                        
                   8)  ให้รองอำนวยการกลุ่มบริหารทั่วไปโรงเรียนห้วยราชพิทยาคมมีอำนาจตีความวินิจฉัยปัญหา เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบนี้

แนวปฏิบัติการให้คะแนนความดี

หลักเกณฑ์และเหตุผลในการเพิ่ม คะแนนความประพฤตินักเรียน

เกณฑ์ความดีที่เห็นสมควรเพิ่มคะแนน

     1. กระทำความดีต่อไปนี้ (เพิ่ม  5 คะแนน )

       1.1 ช่วยดูแลรักษาความสะอาดบริเวณโรงเรียน นอกเหนือจากการทำเวรประจำวัน 
       1.2 เก็บเงินหรือสิ่งของมีค่า (ราคาไม่เกิน 100 บาท) นำส่งครูเวรประจำวัน เพื่อแจ้งประกาศหาเจ้าของ
       1.3 ช่วยระงับเหตุ หรือยับยั้งการทะเลาะวิวาทของเพื่อนนักเรียน
       1.
4 ช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนที่อ่อนแอ พิการ  หรือด้อยกว่าตนเป็นประจำ
       1.5 ช่วยเหลืองานที่ครูมอบหมายให้ทำ และครูรับรองผลการทำงานว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ
       1.
6 ทำความดีอื่น ๆ ที่เทียบได้กับข้อ 1.1-1.5

    2. กระทำความดีต่อไปนี้ (เพิ่ม  10 คะแนน)

       2.1 ช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนด้วยความตั้งใจจริง และเป็นประจำ
       2.
2 เก็บเงินหรือสิ่งของมีค่าได้ (ราคาตั้งแต่  110 – 300 บาท)  นำส่งครูเวรแจ้งประกาศหาเจ้าของ
       2.
3 ชี้ช่องทางหรือแจ้งแหล่งอบายมุข ให้ครูหรือสารวัตนักเรียนทราบ  เพื่อป้องกันและแก้ไขได้ทัน
       2.
4 แจ้งชื่อผู้กระทำผิด หรือทำความเสียหายให้กับโรงเรียน และส่วนรวมให้ครูหรือสารวัตนักเรียนทราบ
       2.
5 ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหานักเรียน หรือโรงเรียน
       2.
6 ให้ข้อมูลแก่ครู เพื่อเป็นการทบทวนการแก้ปัญหา  หรือพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ
       2.
7 กระทำความดีอื่น ๆ ที่เทียบได้กับข้อ  2.1-2.6

   3. กระทำความดีต่อไปนี้ (เพิ่ม  15 คะแนน)

       3.1  นำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน  ทำให้บุคคลภายนอกรู้จักโรงเรียนมากขึ้น (ระดับเขตการศึกษา / จังหวัด)    
       3.2  เก็บเงินหรือสิ่งของมีค่า (ราคา  300-600 บาท) นำส่งครูเวรประจำวัน  แจ้งประกาศหาเจ้าของ
       3.3  พาผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมหรือร่วมประชุมกับทางโรงเรียน (ยกเว้นกรณีกระทำความผิด)
       3.4  กระทำความดีอื่น ๆ  ที่เทียบได้กับข้อ  3.1-3.3

   4. กระทำความดีต่อไปนี้ (เพิ่ม  20 คะแนน )

       4.1  ทำชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน  ทำให้บุคคลภายนอกรู้จัก  เชื่อถือนิยมยกย่อง  (ระดับภาค/ประเทศ)  
       4.2  เก็บเงินหรือสิ่งของมีค่า (ราคาตั้งแต่ 601 บาทขึ้นไป) นำส่งครูเวรประจำวัน  แจ้งประกาศหาเจ้าของ
       4.3  ทำความดีอื่นๆที่เทียบได้กับ ข้อ  4.1-4.2

หมายเหตุ     
       1.  การกระทำความดี   สามารถนำคะแนนมาหักล้างคะแนนความผิดได้ (เฉพาะกรณี)
       2. เกียรติบัตรที่นักเรียนได้รับให้นำสำเนาส่งที่ฝ่ายกิจการนักเรียนทุกครั้ง  เพื่อที่จะนำไปจัดทำระเบียบประวัติ  และมอบวุฒิบัตรชื่นชมในการกระทำความดี

              ให้ผู้บริหารโรงเรียน  หรือผู้ที่รับมอบอำนาจจากผู้บริหารโรงเรียนรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

               ประกาศ ณ วันที่  1 มิถุนายน พ.ศ. 2564

   

                                                                         (นายสรรพสิริ  เชาว์ชัยพัฒน์) 
                                                                ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยราชพิทยาคม

 

 

       แนวปฏิบัติตนของนักเรียนโรงเรียนห้วยราชพิทยาคม 

   1. แนวปฏิบัติทั่วไป

        1.1  เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำตักเตือนของครู ทุกท่าน   
        1.2  ปฏิบัติตนมีศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม   เพื่อรักษาชื่อเสียงเกียรติประวัติของโรงเรียนคงไว้  ไม่ประพฤติการใด ๆ  ที่นำความเสื่อมเสียมาสู่โรงเรียน
        1.3  รักษาความสามัคคีในหมู่คณะ  รุ่นน้องนับถือรุ่นพี่  รุ่นพี่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่รุ่นน้อง
        1.4  นักเรียนต้องช่วยกันรักษาทรัพย์สิน  และสมบัติของโรงเรียนให้อยู่ในสภาพที่ดีสวยงาม  รวมทั้งช่วยกันรักษาความสะอาดในบริเวณโรงเรียน   และไม่สวมรองเท้าขึ้นบนอาคารเรียน
        1.5  ไม่ดัดผม , ย้อมผม ,ซอยผม , ไว้เล็บ ,ทาเล็บ , เขียนคิ้ว , กันคิ้ว , กันหน้า  และตกแต่งใบหน้าด้วยเครื่องสำอางหรือไว้ผมตามสมัยนิยม
        1.6  นักเรียนต้องมีสัมมาคารวะต่อบุคคล  ต้องทำความเคารพเมื่อพบครู ทุกท่านและบุคคลที่มาติดต่อกับโรงเรียน  รู้จักกล่าวคำว่า  สวัสดี  ขอโทษ  ขอบคุณในโอกาสอันควร
        1.7  สุภาพอ่อนโยนต่อบุคคลทั่วไป  ไม่กล่าวคำหยาบหรือพูดส่อเสียด  หรือแสดงกริยามารยาทอันไม่สมควรทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน
        1.8  เมื่อมาติดต่อกับโรงเรียนทุกครั้งไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนเท่านั้น  (เว้นแต่ในกรณีจำเป็นหรือมีเหตุผลอันสมควร   แต่ต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย)  ห้ามนุ่งกางเกงกีฬา สวมรองเท้าแตะฟองน้ำ  เป็นต้น  ถ้าแต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย  โรงเรียนจะไม่ดำเนินการใด ๆ ให้
        1.9  การเข้าพบครูทุกครั้ง  ให้นักเรียนสำรวมกิริยา  วาจา  มารยาทให้เรียบร้อย  ถ้าเป็นกลุ่มควรเข้าแถวจัดลำดับก่อน-หลัง  ไม่รุมล้อม
        1.10  นักเรียนต้องมีความสุภาพเรียบร้อย  รักสงบ  และรักษาระเบียบวินัยของโรงเรียนโดยเคร่งครัด
        1.11 ไม่เสพย์สิ่งเสพติด  หรือของมึนเมาประเภทต่าง ๆ
        1.12 ไม่มั่วสุมหรือก่อความรำคาญ  ให้กับบุคคลอื่น  ชุมชน  เป็นต้น
        1.13 ไม่ไปและไม่ชักชวนเพื่อนนักเรียน ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียน หรือการจัดทัศนาจรที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางโรงเรียน
        1.14 ไม่เล่นการพนัน  หรือการเล่นสิ่งอื่นใดที่ต้องใช้ทรัพย์สิน
        1.15 ไม่นำหนังสือ  เอกสาร  สิ่งตีพิมพ์และแผ่นประกาศ  มาแจก มาติด ในบริเวณโรงเรียน  เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากครูในโรงเรียน
        1.16 ไม่นำอาหาร  น้ำดื่มหรือขนม  ขึ้นไปรับประทานบนอาคารเรียน และในห้องเรียน   นอกจากบริเวณโรงอาหาร  (เว้นแต่สถานที่ที่โรงเรียนจัดไว้ให้)                                        
        1.17 ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารในเวลาเรียน

   2. การเข้าแถวหน้าเสาธงและการตรวจเครื่องแต่งกาย ให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติดังนี้

        2.1  เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณดัง  (เวลา  07.50 น.)  หยุดกิจกรรมทุกอย่าง  รีบทำภารกิจส่วนตัว  
        2.2  เสียงสัญญาณดังครั้งที่  2  (เวลา  07.55  น.) ให้นักเรียนรีบมาเข้าแถวประจำที่ ตามระดับชั้น ชั้นละ 2 แถว  และจัดแถวให้เป็นระเบียบ  (ครูที่ปรึกษาดำเนินการเช็คชื่อพร้อมตรวจเครื่องแต่งกายนักเรียน)
        2.3  นักเรียนทุกคนต้องอยู่ในความสงบ  พิธีกรหน้าเสาธง สั่ง แถว .. ตรง  (ขณะที่ตัวแทนนักเรียนเชิญธง เมื่อมาถึงเสาธง สั่ง .. พัก   พิธีกรหน้าเสาธง  สั่ง  เตรียมตัวเคารพธงชาติ.. ธงขึ้น ..ตรง.. ธง ขึ้นสู่ยอดเสา  นักเรียนทุกคนร้องเพลงชาติพร้อมกัน  สวดมนต์ไหว้พระ  กล่าวคำปฏิญาณตน …….. จบพิธีการ)
        2.4  พิธีกรหน้าเสาธง  เชิญครูเวรประจำวัน  แจ้งข่าว  หรือประกาศประจำวันของโรงเรียน  นักเรียนนั่ง หรือยืน ด้วยความสงบ  สำรวม   จนเสร็จสิ้น  ตัวแทนบอก   เชิญเข้าห้องเรียน  นักเรียนเดินเข้าห้องเรียนอย่างมีระเบียบ   (เดินไปทีละ 2 แถว)  ไม่พูด  ไม่เล่น  และไม่แตกแถว
        2.5  ห้ามนักเรียนที่มาโรงเรียนสาย  เข้าไปในแถวขณะประกอบพิธี  (โดยไม่ได้รับอนุญาต)  ให้เข้าแถวในกลุ่มผู้มาสายและปฏิบัติตามที่ครูเวรประจำวันกำหนด   เป็นผู้ดูแลความเรียบร้อย
        2.6  ถ้านักเรียนไม่ผ่านกิจกรรมหน้าเสาธงและตรวจเครื่องแต่งกายในแต่ละสัปดาห์ ให้ครูที่ปรึกษาแจ้งผู้ปกครองเป็นระยะเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
        2.7  ถ้านักเรียนไม่ผ่านกิจกรรมหน้าเสาธงและตรวจเครื่องแต่งกาย หรือเข้าร่วมกิจกรรมและตรวจเครื่องแต่งกายน้อยกว่าร้อยละ 80 ต้องดำเนินการแก้ไขพฤติกรรมกับงานปกครองส่งเสริมและควบคุมความประพฤตินักเรียน

   3. การ HOME  ROOM

          ถือเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของนักเรียน  ที่ต้องเข้าฟังการชี้แจง  อบรม  ตักเตือน  จากครูที่ปรึกษาระบบกลุ่ม  หรือครูประจำชั้นในคาบสวดมนต์ประจำสัปดาห์ และเวลาอื่น ๆ ที่ครูที่ปรึกษานัดหมาย  ทั้งนี้เพื่อให้ครูที่ปรึกษาจะได้ตรวจดูแลความสะอาด เรียบร้อยของห้องเรียน  การแต่งกายของนักเรียน  รวมทั้งปัญหาต่างๆ และชี้แจงระเบียบข้อควรปฏิบัติของนักเรียนให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของโรงเรียน

   4. การมาโรงเรียน

         4.1  นักเรียนต้องมาโรงเรียนให้ทัน  ก่อนสัญญาณ  ครั้งที่  2  (เวลา  07.55 น.)   
         4.2  มาโรงเรียนไม่ทันเข้าแถวเคารพธงชาติ  หลังเวลา  07.55 น. ให้ถือว่ามาสาย
         4.3  เมื่อมาโรงเรียนแล้วจะออกนอกบริเวณโรงเรียน  ต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายกิจการนักเรียนก่อน
         4.4  นักเรียนที่นำรถจักรยาน  หรือจักรยานยนต์มาโรงเรียน  ควรนำมาจอดไว้ที่ที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้  (ไม่ควรนำไปจอดไว้ที่นอกบริเวณโรงเรียน)
         4.5  เมื่อนักเรียนมีความจำเป็นจะต้องหยุดเรียน   นักเรียนต้องเขียนใบลาเป็นลายลักษณ์อักษร  และมีผู้ปกครองเซ็นรับรองด้วย  หรือผู้ปกครองแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
         4.6  ในกรณีที่ผู้ปกครองขับรถมาส่งหรือรับนักเรียน  ให้จอดส่ง – รับบริเวณหน้าโรงเรียน (ยกเว้นในกรณีมีเหตุจำเป็น)      
         4.7  ก่อนเข้าบริเวณโรงเรียนเวลาเช้าทุกวันนักเรียนจะต้อง “ไหว้” ทำความเคารพ  กล่าวคำว่า “ สวัสดีครับ…  หรือ  สวัสดีค่ะ ….” 

   5. การออกนอกบริเวณโรงเรียน นักเรียนจะต้องขออนุญาต

         นักเรียนจะออกนอกบริเวณโรงเรียนในระหว่างเวลาเรียน  คือเวลา  08.25-15.45 น.  ต้องปฏิบัติดังนี้

     1. ผู้ปกครองมารับด้วยตนเอง (ให้นำบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงด้วย ) โดยแจ้งเหตุผลที่ฝ่ายกิจการนักเรียน เพื่อรับบัตรอนุญาต จึงให้ออกนอกบริเวณโรงเรียนได้  
     2. นักเรียนนำจดหมายจากผู้ปกครอง ระบุ  วันเวลา  ที่ขอออกนอกบริเวณ  กิจธุระที่ต้องไปทำ สถานที่ที่จะไป  พร้อมด้วยลายเซ็นที่แท้จริงของผู้ปกครอง  ไปแสดงต่อครูที่ปรึกษา  ครูผู้สอนพิจารณารับทราบแล้วนำไปแสดงต่อฝ่ายกิจการนักเรียน  เพื่อพิจารณาอนุญาตและให้บัตรออกนอกบริเวณโรงเรียนแก่นักเรียน(ในกรณีเร่งด่วนให้ขออนุญาตกับฝ่ายกิจการนักเรียน)
    3. กิจกรรมใดๆที่โรงเรียนจัดขึ้นภายนอกโรงเรียน โรงเรียนจะทำหนังสือแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบเพื่อขออนุญาต  และจัดให้ครูเป็นผู้ดูแลควบคุมนักเรียนทุกครั้งด้วย
    4. ในกรณีที่นักเรียนลืมอุปกรณ์การเรียน สิ่งของ  เมื่อมาถึงโรงเรียนทางโรงเรียนจะไม่อนุญาตให้ออกนอกบริเวณ  เพื่อกลับไปเอาสิ่งของนั้นๆ  เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกลุ่มงานบริหารทั่วไปและฝ่ายกิจการนักเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร    

   6. การลา

     1. ลากิจธุระ ในระหว่างเรียน ต้องมีจดหมายผู้ปกครองแจ้งให้ครูผู้สอน ครูที่ปรึกษา และฝ่ายกิจการนักเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร  ถ้ามีผู้ปกครองมารับด้วยตนเอง  จะต้องแจ้งกิจการนักเรียน  ซึ่งจะเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้

     2. ลาป่วย

           ก.  แจ้งให้ครูผู้สอน และครูที่ปรึกษา ทราบเพื่อขออนุญาตเข้าพักในห้องพยาบาล
           ข.  ในกรณีต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้าน  ต้องขอใบรับรองจากฝ่ายพยาบาลไปแจ้งต่อฝ่ายกิจการนักเรียน  เพื่อขออนุญาตออกนอกบริเวณโรงเรียนได้ 
           ค.  ถ้าป่วยมาโรงเรียนไม่ได้  เมื่อหายป่วยมาเรียนได้ตามปกติ  ในวันแรกต้องนำจดหมาย  โดย
ผู้ปกครองรับรองว่าป่วยจริงและระบุสาเหตุ อาการป่วย  วัน  เวลา  ที่ป่วย  มาแสดงต่อครูที่ปรึกษา

   7. การมาพบกับบุคคลภายนอก

       ทางโรงเรียนไม่ประสงค์ให้นักเรียนใช้สถานที่ของโรงเรียนเป็นที่พบกับบุคคลภายนอก  ถ้ามีกิจธุระที่จำเป็นจริงๆ  นักเรียนต้องแจ้งครูที่ปรึกษาและฝ่ายกิจการนักเรียนไว้ล่วงหน้าด้วยตนเอง  นักเรียนมีความจำเป็นต้องพบกับใคร   มีความเกี่ยวข้องอย่างไร  เรื่องอะไร  โดยให้บุคคลภายนอกมาติดต่อและรอที่ห้องฝ่ายกิจการนักเรียนเท่านั้น  (การรอที่บริเวณโรงอาหารหรือที่อื่น ๆ  ต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายกิจการนักเรียนก่อน)   บุคลภายนอกที่ขอพบนักเรียนอาจจะไม่ได้รับอนุญาตจากกิจการนักเรียนถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสมหรือไม่จำเป็นเป็นหน้าที่ของนักเรียนทุกคนที่จะต้องชี้แจงให้บุคคลภายนอกที่จะมาติดต่อให้ทราบ    จะเข้ามาในบริเวณโรงเรียนตามความพอใจไม่ได้  ทั้งนี้เพื่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของทุก ๆ คน  นักเรียนผู้ใดจะอ้างว่าไม่ทราบระเบียบไม่ได้   และให้ถือปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว

    8. การหนีเรียน

          การหนีเรียน คือ  การที่นักเรียนหายไปจากห้องเรียนในเวลาเรียนโดยไม่ได้แจ้งให้ครูประจำวิชาทราบ  ถือเป็นการหนีเรียน  ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ  เช่น  ไปตอบปัญหา , การประกวด , หรือแข่งขันกีฬา  ต้องแจ้งให้ครูประจำวิชาทราบ   ครูประจำวิชา  รายงานครูที่ปรึกษาทราบเป็นลายลักษณ์อักษร    ครูที่ปรึกษาแจ้งฝ่ายกิจการนักเรียน

   9. การขาดเรียน

          โรงเรียนไม่ประสงค์จะให้นักเรียนขาดเรียนไม่ว่ากรณีใดๆ นักเรียนคนใดขาดเรียนโดยไม่     ทราบสาเหตุ  โรงเรียนวางหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้                                                                         
          ก.
ครั้งที่ 1  ขาดเรียน  3  วันใน 1 สัปดาห์ที่ครูที่ปรึกษาจะเตือนเป็นครั้งแรก  โดยแจ้งไปยังผู้ปกครอง
          ข. ครั้งที่  2  ขาดเรียน  5  วันติดต่อกัน  จะเตือนเป็นครั้งที่  2  โดยครูที่ปรึกษามีจดหมายเชิญไปยังผู้ปกครองนักเรียน
          ค.
ครั้งที่  3  ขาดเรียน  7  วันติดต่อกัน  หากไม่ติดต่อแจ้งสาเหตุให้โรงเรียนทราบ ฝ่ายกิจการนักเรียน รายงานให้รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารทั่วไปทราบและพิจารณา

   10. การกลับบ้าน

         ก. หลังจากโรงเรียนเลิกเวลา  145 น. แล้ว  นักเรียนจะอยู่ในบริเวณโรงเรียนได้ตามเวลาที่โรงเรียนกำหนด  ไม่เกิน 17.00 น.  ยกเว้นผู้มีกิจกรรมพิเศษที่ได้รับมอบหมาย  แต่ต้องแจ้งให้ครูเวรประจำวันทราบ
         ข. นักเรียนที่มีผู้ปกครองมารับ ต้องเอาใจใส่  ไม่ให้ผู้ปกครองมารอนาน
         ค. นักเรียนต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียน  ทำกิจธุระใดๆ ต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ  โรงเรียนจัดให้มีครูเวรประจำวันออกตรวจนักเรียนที่ไม่กลับบ้านตรงตามเวลา   พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

   11. การประชุม

        โรงเรียนจัดให้มีการประชุมนักเรียนและสวดมนต์ประจำสัปดาห์ที่หอประชุม  หมุนเวียนอย่างน้อยชั้นละ 1  ครั้งต่อสัปดาห์   การเข้าห้องประชุม  ให้นักเรียนปฏิบัติดังนี้

        ก. นักเรียนแต่ละชั้นต้องรับผิดชอบว่าเป็นหน้าที่ของนักเรียนจะต้องเข้าฟังการประชุมทุกครั้งและรับผิดชอบการจัดโต๊ะหมู่บูชา อุปกรณ์การประชุม  นำสวดมนต์ตามวันเวลาที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้  ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน
        ข.
เดินเข้าหอประชุมอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย นั่งประจำที่ของตนอย่างสงบ  ไม่พูดหรือส่งเสียงดัง
        ค. ให้หัวหน้าชั้นหรือรองหัวหน้าชั้น รายงานชื่อนักเรียนที่ขาดประชุมต่อครูที่ปรึกษา
        ง. เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม ต้องพร้อมใจร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี  ด้วยความพร้อมเพรียงกัน
        จ. นักเรียนต้องได้รับอนุญาตให้ออกนอกบริเวณหอประชุมก่อน จึงจะออกจากหอประชุมอย่างมีระเบียบ
        ฉ. ถ้างดประชุมนักเรียนและสวดมนต์ประจำสัปดาห์ทางโรงเรียนจะแจ้งให้ทราบเป็นครั้งคราว

    12. การใช้อาคารและห้องต่างๆ

         ก. นักเรียนที่ขึ้นลงบันได ให้เดินเป็นแถวเรียงหนึ่งชิดขวามือของตน 
         ข. นักเรียนต้องทำความสะอาดห้องเรียน ช่วยกันรักษาสิ่งของภายในห้องเรียนที่อยู่ในสภาพที่ใช้ได้ตลอดเวลา  โดยแบ่งหน้าเป็นเวรประจำ
         ค. ไม่ส่งเสียงรบกวนสมาธิของผู้ที่กำลังเรียนอยู่ในห้องเรียนหรือบริเวณใกล้เคียง
         ง.
ช่วยกันประหยัดน้ำ ไฟฟ้า  และวัสดุสิ้นเปลืองของโรงเรียน  เมื่อไม่อยู่ในห้องเรียนให้ปิดไฟ
         จ. การเข้าห้องพยาบาล ต้องได้รับอนุญาตจากครูผู้สอนและครูพยาบาลก่อน
         ฉ. การใช้ห้องน้ำ ต้องทำให้สะอาดทุกครั้งเมื่อใช้แล้ว  ห่อผ้าอนามัยที่ใช้แล้วให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วถึงทิ้งที่เตรียมไว้ให้  รวมทั้งช่วยกันดูแลการใช้น้ำ-ปิดก๊อกน้ำ  และไม่ใช้ห้องน้ำครู
        ช. ไม่ขีดเขียนโต๊ะเรียน , ฝาผนังห้องเรียน , ฝาผนังห้องเรียนซึ่งทำให้สกปรกไม่น่าดู
        ซ. เมื่อเข้าห้องครู ต้องขออนุญาตทุกครั้งก่อนและไม่หยิบสิ่งใดๆในโต๊ะครูโดยไม่ได้รับอนุญาต
        ฌ. การใช้ห้องสมุด ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของครูบรรณารักษ์  และไม่พูดคุยเสียงดังรบกวนสมาธิของผู้อื่น       
        ญ. โรงอาหาร ต้องใช้อย่างมีระเบียบ  เพื่อความสะดวกและเหมาะสม  ซื้ออาหารต้องเดินเข้าแถวแบ่งที่นั่งให้คนอื่นบ้าง  เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยเก็บภาชนะเก็บชามแก้วน้ำไปไว้ตามที่จัดให้ไว้

              ให้ผู้บริหารโรงเรียน  หรือผู้ที่รับมอบอำนาจจากผู้บริหารโรงเรียนรักษาการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัตินี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับแนวปฏิบัตินี้ 

              ประกาศ ณ วันที่  1 มิถุนายน พ.ศ. 2564

                                                                            (นายสรรพสิริ  เชาว์ชัยพัฒน์)                        
                                                                   ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยราชพิทยาคม